วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

ปฏิปทาหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ 14 ข้อ

 ปฏิปทา หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ 14 ข้อ 


๑.  หลวงปู่เน้นการเจริญกรรมฐาน เช่นเดียวกับพระกรรมฐานทั้งหลาย ดังนั้น ท่านจึงสรรเสริญการรักษาความสงบเงียบของสถานที่เพื่อให้เอื้อต่อการเจริญกรรมฐาน

๒. หลวงปู่ไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัด เพื่อจะได้สงเคราะห์ผู้ที่มาจากที่ไกลๆ หรือที่ไหนๆ ว่าเมื่อมาถึงวัดสะแกแล้ว มั่นใจได้ว่าจะได้พบหลวงปู่แน่นอน

๓. หลวงปู่ใช้วัตถุมงคลดึงคนให้ใกล้พระศาสนา แต่หากใครหมกมุ่นวัตถุมงคลเกินพอดี ท่านจะปรามว่า “พระของข้า องค์เดียวก็พอ ปฏิบัติให้จริง” รวมทั้งให้ศิษย์ต่อยอดความดีด้วยการเจริญกรรมฐานให้เข้าถึงพระในตัว

๔. หลวงปู่ไม่นิยมการเรี่ยไรบอกบุญและการก่อสร้าง ท่านมุ่งเน้นให้ศิษย์ปฏิบัติภาวนาเพื่อสร้างสรณะที่พึ่งในใจตน 

๕. หลวงปู่สอนให้ยึดพระพุทธเจ้า ยึดพระธรรม แต่ไม่ให้ยึดติดตัวท่าน ท่านไม่เคยดึงดูดลูกศิษย์ด้วยการอ้างความสัมพันธ์ในอดีตชาติ อย่างมากก็มีเพียงคำพูดกลางๆ ว่า  “หากไม่เคยเจอกันมาก่อน ก็คงมาไม่ถึงวัดสะแก”

๖. หลวงปู่เป็นผู้มักน้อยสันโดษ สบงจีวร เครื่องใช้ต่างๆ ท่านใช้อย่างคุ้มค่า ไม่เปลี่ยนง่ายๆ และไม่นิยมของฟุ้งเฟ้อหรูหรา อีกทั้งปฏิเสธมิให้หนังสือนิตยสารใดๆ มาสัมภาษณ์ รวมทั้งแทบไม่อนุญาตให้ใครๆ ถ่ายภาพ

๗. หลวงปู่เคร่งครัดในธรรมวินัย ดังนั้น การใช้ญาณหยั่งรู้ หรือการรู้วาระจิต  ฯลฯ ของท่าน ลูกศิษย์ต้องสังเกตเอาเอง ซึ่งการใช้ญาณหยั่งรู้ของท่าน มุ่งประโยชน์ที่ตัวศิษย์เป็นสำคัญ มิได้มุ่งที่ตัวท่านในทางโอ้อวด หากจะเอ่ยถึงการรู้เห็น เช่น เห็นเทวดา นางฟ้า สัมภเวสี หรือนรก สวรรค์ ฯลฯ ท่านจะให้ศิษย์อธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ทวดเปิดให้รู้ให้เห็น แล้วเล่าให้ฟัง มิใช่จากตัวท่าน เวลาท่านจะพูดถึงตัวท่านเอง ท่านมักพูดด้วยความถ่อมตนว่า “ข้ายังมืดอยู่” หรือ “ข้ายังเละๆ เทะๆ”

๘. หลวงปู่สอนเน้นหนักในการปฏิบัติตามแบบของพระพุทธเจ้าคือหลักแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ท่านว่าแบบแผนของท่านไม่มี มีแต่แบบแผนที่พระพุทธเจ้าวางไว้ดีแล้ว จึงไม่มีหลักปฏิบัติแหวกแนว ไม่มีทางลัด ไม่มีธรรมะนอกพระไตรปิฎก ท่านสอนย้ำว่า “อย่าให้เลยครูอาจารย์ อย่าให้เลยพระพุทธเจ้า”

๙. หลวงปู่มีปรกติปรารภธรรมสั้นๆ ท่านมักกล่าวถ่อมตัวว่าท่านพูดธัมม้ง ธัมมะ ไม่เป็น โอวาทที่หลวงปู่พูดสอนบ่อยครั้ง คือ “ของดีอยู่ที่ตัวเรา ของไม่ดีก็อยู่ที่ตัวเรา ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต” รวมทั้ง “แก่ เจ็บ ตาย และ “ภาวนาให้ได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน” เป็นต้น

๑๐. หลวงปู่เน้นธรรมะพื้นฐาน ได้แก่ ความกตัญญู ท่านไม่ให้ศิษย์ขวนขวายกราบพระนอกบ้าน จนมองข้ามพระในบ้าน คือพ่อแม่ ตลอดถึงการรู้จักทำดีอย่างถูกกาลเทศะ และให้มีความสันโดษ ใฝ่ดี มิใช่ใฝ่ละโมบอยากร่ำอยากรวย

.๑๑. หลวงปู่เน้นสอนด้วยการทำให้ดู มากกว่าด้วยคำพูด ไม่ว่าเรื่องความเคารพในพระพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์อย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ไม่มุ่งหวังลาภสักการะใดๆ นอกจากนี้ ท่านยังแสดงให้เห็นถึงขันติอันยิ่งตลอดหลายสิบปี ที่ท่านสงเคราะห์ญาติโยมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขันติในยามอาพาธหนักใกล้ละสังขาร

๑๒. หลวงปู่ไม่ให้หลงในเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หากมีเหตุอัศจรรย์อันใดที่มาเพิ่มกำลังใจในการปฏิบัติ หลวงปู่สรุปในคำว่า “พระท่านทำให้เชื่อ” ท่านไม่ให้ตื่นปาฏิหาริย์ เพราะสุดท้าย ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ไม่ได้ดูที่การรู้เห็นภายในหรือสิ่งน่าอัศจรรย์อันใด หากแต่อยู่ที่โกรธ โลภ หลง ที่ลดลง

๑๓. หลวงปู่ไม่สรรเสริญการปฏิบัติชนิดไฟไหม้ฟาง กล่าวคือตอนขยันก็ปฏิบัติมาก แต่พอขี้เกียจก็ทิ้งการปฏิบัติไปเลย หลวงปู่สรรเสริญผู้ที่ปฏิบัติธรรมเสมอต้นเสมอปลายโดยให้มีปัญญาเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ รวมทั้งความไม่ประมาท มาเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติ  

๑๔. หลวงปู่สอนคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญการปฏิบัติไปตามลำดับ คล้ายอย่างการก่อเจดีย์ ใครที่ชอบหาทางลัด ท่านจะปรามว่า “เบื้องต้นก็จะคว้ายอดตาล มีหวังตกลงมาแข้งขาหักหรือตาย เท่านั้น”